ว่าด้วยเรื่องของ ‘หลุมขาว’ วัตถุที่คณิตศาสตร์บอกว่าอาจจะมีอยู่ แต่ยังไม่เคยมีใครหามันเจอ

ชื่อหนังสือ: หลุมขาว (White Holes)
ผู้เขียน : คาร์โล โรเวลลี (Carlo Rovelli)
ผู้แปล : อิษฎา ทองกุล
สำนักพิมพ์ : Sophia
จำนวนหน้า : 160 หน้า
อวกาศถือเป็นดินแดนแหล่งสุดท้ายที่มนุษย์ใฝ่ฝันที่จะสำรวจ แม้เราจะมีทฤษฎีที่อธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่บางสิ่งยังคงเป็นปริศนา เช่น หลุมดำ—วัตถุอันลึกลับที่มนุษยชาติเพิ่งจะถ่ายภาพแรกได้ในปี 2019 อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งที่ยิ่งเร้นลับกว่านั้น บางสิ่งที่ไม่เพียงแต่เราไม่เคยถ่ายภาพได้ แต่นักวิทยาศาสตร์เองยังไม่แน่ใจว่ามีอยู่จริงหรือไม่ นั่นคือ 'หลุมขาว'
ในอดีต หลุมดำเองก็เคยเป็นเพียงแนวคิดทางคณิตศาสตร์ที่ได้จากสมการของไอน์สไตน์ โดยนักฟิสิกส์ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับวัตถุที่มีแรงโน้มถ่วงมหาศาล จนแม้แต่แสงก็ไม่สามารถหนีออกมาได้ แต่ในช่วงเวลานั้นการมีอยู่ของหลุมดำก็ยังเป็นเพียงข้อคาดการณ์เชิงทฤษฎี คือบอกได้ด้วยสมการคณิตศาสตร์เท่านั้น
กระทั่งในศตวรรษที่ 20 นักดาราศาสตร์สามารถตรวจพบหลักฐานของหลุมดำจากการสังเกตพฤติกรรมของดาวฤกษ์ที่โคจรรอบวัตถุมืด การแผ่รังสีเอกซ์จากจานสะสมรอบหลุมดำ และการตรวจพบคลื่นความโน้มถ่วงจากการรวมกันของหลุมดำในปี 2015 ทำให้แนวคิดทางคณิตศาสตร์เรื่องหลุมดำนี้ได้รับการยืนยันว่าเป็นจริงในจักรวาลของเรา
หลุมขาวก็ประมาณนี้ คือคณิตศาสตร์บอกว่า 'ควร' จะมีอยู่จริง เพราะมันเป็นคำตอบหนึ่งที่เป็นไปได้ของสมการสัมพัทธภาพทั่วไป มีคุณสมบัติตรงข้ามกับหลุมดำ คือไม่มีสิ่งใดสามารถตกลงไปได้ และสสารจะถูกปล่อยออกมาเสมอ แต่ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางดาราศาสตร์ที่บ่งชี้ว่าหลุมขาวมีอยู่จริงในธรรมชาติ อาจเพราะเทคโนโลยีของเรายังไม่ก้าวหน้าพอที่จะตรวจพบมัน หรือมันอาจดำรงอยู่ในรูปแบบที่แตกต่างจากที่เราคาดการณ์ไว้ในสมการคณิตศาสตร์ เหมือนกับวัตถุทางฟิสิกส์อีกหลายอย่างที่คณิตศาสตร์บอกว่า 'ควร' จะมีอยู่จริง แต่ยังไม่มีหลักฐานที่จับต้องได้ เช่นรังสีของฮอกกิ้ง
ในหนังสือ 'White Holes' หรือ 'หลุมขาว' เล่มนี้ คุณ Carlo Rovelli นักฟิสิกส์ทฤษฎีชื่อดังได้พาเราไปสำรวจแนวคิดของหลุมขาว โดยหนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็นสามส่วนหลัก คือ
- ความรู้ที่เรามีเกี่ยวกับหลุมดำ
- ความหมายของหลุมขาว และความน่าสนใจของมัน
- ข้อมูลสนับสนุนที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดของหลุมขาว
โดยในเนื้อหามีการอ้างอิงถึงงานเขียนเล่มก่อน ๆ ของเขาเอง ไม่ว่าจะเป็น The Order of Time ซึ่งกล่าวถึงการรับรู้อดีต-อนาคต และ Reality is Not What It Seems ที่นำเสนอทฤษฎีควอนตัมแบบโฟม คิดว่าถ้าอ่านเล่มเหล่านั้นมาก่อนอ่านเล่มนี้อาจจะมีภาพในหัวมากขึ้น นอกจากนี้คุณ Carlo ยังมักเปรียบเปรยนักวิทยาศาสตร์ที่พยายามทำความเข้าใจกับแนวคิดทางฟิสิกส์ที่ดูไม่น่าเป็นไปได้เหล่านี้กับวรรณกรรมเรื่อง Inferno ของ Dante ซึ่งเล่าถึงการเดินทางสู่ขุมนรก และเจอกับสิ่งที่ไม่น่าเชื่อหลากหลายอย่าง

ความพิเศษที่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของหนังสือของคุณ Carlo ก็คือ การอธิบายทฤษฎีที่ซับซ้อนให้เห็นภาพ และใช้ภาพประกอบเพื่อช่วยให้คนอ่านอย่างเรา ๆ ไม่ต้องจินตนาการเอาเองมากเกินไป ทำให้โดยรวมแล้ว White Holes เป็นหนังสือที่เหมาะกับบุคคลทั่วไปที่สนใจฟิสิกส์สมัยใหม่ โดยเฉพาะแนวคิดที่ล้ำสมัยเกี่ยวกับโครงสร้างของเอกภพ
แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกอย่างที่เคยคิดกันว่า 'ควร' จะมีอยู่ในทางทฤษฎีนั้นจะถูกต้องเสมอ อย่างในสมัยก่อนที่นักฟิสิกส์เชื่อว่าแสงหรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าควรจะมีตัวกลางในการถ่ายทอดที่ชื่อว่าอีเธอร์ แต่ภายหลังก็พบว่าอีเธอร์นั้นไม่มีอยู่จริง เพราะฉะนั้น ตราบใดที่เรายังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่แสดงว่าหลุมขาวมีอยู่จริงหรือไม่ คำถามที่ว่า 'หลุมขาวมีอยู่จริงหรือไม่' จะยังคงเป็นปริศนาต่อไป
ดังนั้นหนังสือเล่มนี้จึงจะทำให้คุณสนุกไปกับการตั้งคำถาม คิดตาม และคาดเดาคำตอบไปตลอดทั้งเล่ม ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการไปศึกษาค้นคว้าต่อในประเด็นที่ลึกซึ้งขึ้นอย่างแน่นอน
และเช่นเดิม ใครที่อยากสนับสนุนเพจเว็บไซต์ของเรา ให้ผลิตคอนเทนต์คณิตศาสตร์แบบนี้ต่อไป ก็สามารถสมัครเป็นสมาชิกรายเดือนได้โดยกดปุ่ม 'สมัครสมาชิก' ได้เลยนะฮะ