บาร์บี้ อคติทางเพศ และคณิตศาสตร์

ตั้งแต่ 64 ปีก่อน ที่ตุ๊กตาบาร์บี้เปิดตัวครั้งแรก นำมาสู่การ์ตูนแอนนิเมชัน และล่าสุดที่เรากำลังจะได้ดูในรูปแบบของคนแสดง บาร์บี้ก็รับบทนาง Empowering Women มาตลอด ด้วยการสอดแทรกแนวคิดความเท่าเทียมทางเพศ โดยเฉพาะการนำเสนอภาพผู้หญิงที่หลากหลาย ทำอาชีพต่าง ๆ ตั้งแต่อาชีพที่สังคมบอกว่าเป็นอาชีพผู้หญิง ๆ เป็นพยาบาล ดีไซน์เนอร์ ไปจนถึงการเป็นนักบินอวกาศ ทหารเสือ เป็นองค์ครักต่อสู้กับข้าศึก ซึ่งเป็นงานที่สังคมบอกว่าสงวนไว้สำหรับผู้ชาย
แต่ดังคำที่ยังโอมว่าไว้ว่า ก่อนจะซิ่งก็ต้องกลิ้งมาก่อน บาร์บี้เองก็เคยมีประวัติการบ้งเพราะเผลอผลิตซ้ำอคติทางเพศเหมือนกัน และเรื่องตอนนั้นดันไปเกี่ยวข้องกับคณิตศาสตร์ด้วย
เรื่องมีอยู่ว่าเมื่อปี 1992 ได้มีการปล่อยตุ๊กตาบาร์บี้ชุด Teen Talk Barbie ซึ่งมีความพิเศษคือเป็นตุ๊กตาที่พูดได้ และพิเศษยิ่งไปกว่านั้นคือประโยคที่ตุ๊กตาแต่ละตัวจะพูดได้นั้นไม่เหมือนกัน ในการผลิตตุ๊กตาชุดนี้ผู้ผลิตได้อัดเสียงเป็นข้อความสั้น ๆ เอาไว้ 270 ประโยค โดยตุ๊กตาบาร์บี้แต่ละตัวจะถูกสุ่มให้พูดได้แค่ 4 ประโยคเท่านั้น ทำให้เกิดความน่าสนใจสำหรับคนซื้อว่าตัวที่ซื้อมานั้นจะพูดว่าอะไร ซึ่งประโยคต่าง ๆ ที่บาร์บี้พูดได้ก็เป็นประโยคทั่ว ๆ ไปที่มีความเป็นผู้หญิงตามกรอบของสังคมอย่างเช่น Want to go shopping? หรือ Will we ever have enough clothes? ไปจนถึงประโยคที่สอดแทรกแนวคิดเรื่องผู้หญิงจะเป็นอะไรก็ได้ เช่น I'm studying to be a doctor หรือ Wouldn't you love to be a lifeguard? แต่ปัญหามันดันมาเกิด ตรงที่มีหนึ่งใน 270 ประโยคที่พูดว่า Math class is tough. ที่แปลว่า วิชาคณิตศาสตร์นั้นยาก
บางคนฟังแล้วก็อาจจะคิดว่า แล้วประโยคนี้มันมีปัญหาอะไร ก็คณิตศาสตร์นั้นยากจริง ๆ แต่บรรดาครูคณิตศาสตร์รวมไปถึงสภาครูคณิตศาสตร์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Council of Teachers of Mathematics) และสมาคมมหาวิทยาลัยสำหรับผู้หญิง (American Association of University Women) ไม่คิดแบบนั้น ประเด็นที่พวกเขาคัดค้านการเอาประโยคนี้ไปใส่ในตุ๊กตาบาร์บี้คือพวกเขาพยายามต่อสู้กับความเชื่อที่ว่า คณิตศาสตร์เป็นวิชาสำหรับผู้ชาย ไม่ใช่สำหรับผู้หญิง มาอย่างยาวนาน แต่ตุ๊กตาบาร์บี้ตัวนี้กลับกำลังผลิตซ้ำอคติทางเพศนี้เสียอย่างนั้น

ก่อนจะไปเล่าว่าเกิดอะไรขึ้นต่อ ขอมาพูดเรื่องความเชื่อเรื่องนี้กันก่อน ความเชื่อที่ว่าคณิตศาสตร์เป็นวิชาสำหรับผู้ชายนั้นมีมาอย่างช้านาน บางคนถึงกับอธิบายว่ามันเป็นเรื่องความแตกต่างกันของสมอง สมองของผู้ชายนั้นถูกสร้างมาให้เก่งเรื่องการคำนวณ ใช้ตรรกะ เหตุผล ต่างจากสมองของผู้หญิงที่ถูกสร้างมาให้เก่งเรื่องศิลปะ สร้างสรรค์ และการใช้อารมณ์ แต่ก็มีงานวิจัยมากมายทั้งในทางชีววิทยาระบุว่าสมองส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ของผู้หญิงกับผู้ชายนั้นไม่ได้มีความแตกต่างกัน และทางด้านการศึกษาที่พบว่าผลการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ของผู้หญิงกับผู้ชายนั้นก็ไม่ได้มีความแตกต่างกันเช่นกัน
แต่แม้ว่าผลวิจัยจะออกมาแบบนั้น แต่ค่านิยมเหล่านี้ก็ยังถูกผลิตซ้ำอยู่เรื่อย ๆ ในสังคมจนอาจเรียกได้ว่าเป็นอคติทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นจากการพูดของครู ผู้ปกครอง หรือสื่อ จนทำให้ในคณะที่เกี่ยวกับการคำนวณอย่างเช่นวิศวกรรมศาสตร์ คอมพิวเตอร์ หรือวิทยาศาสตร์บางสาขานั้นถูกมองว่าเป็นวิชาของผู้ชาย และส่งผลต่ออัตราส่วนของจำนวนนักศึกษาชายต่อหญิงที่ต่างกันอย่างมาก อีกตัวอย่างที่มักจะถูกยกขึ้นมาเมื่อพูดถึงเรื่องนี้คืออัตราส่วนของนักคณิตศาสตร์ที่ได้เหรียญฟีลด์ (Field Medal) ซึ่งถือกันว่าเป็นรางวัลสูงสุดของวงการคณิตศาสตร์ ที่มีผู้หญิงที่ได้รางวัลนี้เพียง 2 คนจากทั้งหมด 64 คนที่เคยมีมา เรื่องนี้ก็ถูกพูดกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นเพราะอคติทางเพศหรือเปล่า และเพื่อลบอคติทางเพศนี้ ในบางมหาวิทยาลัยจึงมีการตั้งสมาคมผู้หญิงในคณิตศาสตร์ (Women in Mathematics) เพื่อให้การสนับสนุนทุนการศึกษาสำหรับผู้หญิงเพื่อเข้าเรียนในสาขาที่เกี่ยวกับการคำนวณโดยเฉพาะเลย
ผลจากการคัดค้านดังกล่าวทำให้ทางผู้ผลิตตุ๊กตาบาร์บี้ต้องออกมาขอโทษที่ไม่ได้ไตร่ตรองถึงผลกระทบในเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นจากประโยคนี้ให้ดีพอ และเลิกถอดเอาประโยคเจ้าปัญหาออกจากคลังประโยคที่บาร์บี้แต่ละตัวจะพูดได้ในการผลิตสินค้าล็อตถัด ๆ ไป และให้ลูกค้าที่ซื้อบาร์บี้ชุดนั้นที่สุ่มได้ตัวที่พูดข้อความนั้นสามารถเอาสินค้ามาเปลี่ยนได้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่นำไปเปลี่ยน จึงทำให้ในปัจจุบันเจ้าตุ๊กบาร์บี้ตัวที่พูดประโยคนั้นได้กลายเป็นของหายากและมีราคาสูง
และเรื่องราวนี้ก็เป็นอุทาหรณ์ให้เราได้เป็นอย่างดี ว่าอคติทางเพศนั้นอยู่รอบตัวเรา และหลายครั้งมันก็มาในรูปแบบของความเคยชินจนไม่รู้ตัว ไม่มีวิชาไหนเป็นวิชาของผู้ชาย ไม่มีวิชาไหนเป็นวิชาของผู้หญิง ถ้าอาชีพไม่มีเพศ เสื้อผ้าไม่มีเพศ หรือสีไม่มีเพศฉันใด วิชาก็ไม่มีเพศฉันนั้น
ใครที่อยากช่วยสนับสนุนเพจเว็บไซต์ของเราให้ผลิตคอนเทนต์คณิตศาสตร์อย่างนี้ต่อไป สามารถสมัครเป็นสมาชิกรายเดือนได้โดยกดปุ่ม 'สมัครสมาชิก' ได้เลยนะฮะ
แหล่งอ้างอิง
https://www.aauw.org/resources/article/the-myth-of-the-male-math-brain/
https://www.theatlantic.com/education/archive/2013/10/the-myth-of-im-bad-at-math/280914/
https://www.youtube.com/watch?v=NO0cvqT1tAE
https://www.wired.com/2011/12/math-class-is-tough/
https://www.maa.org/press/periodicals/convergence/mathematical-treasure-teen-talk-barbie
https://www.latimes.com/nation/la-na-barbies-sidebar-20180309-story.html