คุณต้องการให้ผู้อื่นชื่นชอบและชื่นชมเป็นอย่างมาก คุณมีแนวโน้มที่จะคิดมากและตำหนิตนเอง

คุณต้องการให้ผู้อื่นชื่นชอบและชื่นชมเป็นอย่างมาก คุณมีแนวโน้มที่จะคิดมากและตำหนิตนเอง
ที่มาภาพ: freepik

ปีใหม่แล้ว สายดูดวงอย่างผมก็ไม่พลาดที่จะเข้าไปเช็คดวงชะตาเพื่อเตรียมตัวรับปี 2025 ว่าโชคชะตาของตัวเองจะเป็นอย่างไรบ้างกันเสียหน่อย แต่มีใครเคยเจอปัญหาแบบผมไหมฮะ ว่าเดี๋ยวนี้มันมีหมอดูเยอะไปหมดเลย บางครั้งทำนายกันไปคนละทาง ไม่รู้ว่าควรเชื่อของเจ้าไหนดี ลองเข้าไปอ่านแต่ละอันก็ไม่รู้อยู่ดีว่าแม่นหรือไม่แม่น เพราะเหตุการณ์มันยังไม่เกิดขึ้น

ดังนั้นสิ่งที่ผมมักจะทำอยู่เสมอ จึงคือการเอาดวงของปีที่แล้วของแต่ละเจ้ามาเปิดเช็คดู ว่าปีที่แล้วเขาทำนายไว้แม่นแค่ไหนบ้าง เพราะถ้าของปีที่แล้วยังทำนายผิด ๆ ถูก ๆ แล้วจะให้เชื่อดวงของปีนี้ได้ยังไง จริงไหมฮะ

ถ้าคิดแบบง่าย ๆ เลย สิ่งที่เราต้องทำคือย้อนไปอ่านดวงของเราที่เขาทำนายไว้ตอนต้นปี 2024 แล้วดูสิว่าตรงไหม หรือถ้าใครมีเวลาจะย้อนกลับไปไกลกว่านั้นก็ได้นะฮะ แต่ผมลืมหมดแล้วอะดิว่าปีนั้น ๆ เกิดอะไรขึ้นบ้าง เอาแค่ปีที่แล้วแล้วกัน แต่การทำแบบนี้มีจุดอันตรายสำคัญทางสถิติอยู่ข้อหนึ่งที่เรียกว่า Confirmation Bias ซึ่งหมายถึงการมองหาหรือให้ความสำคัญกับข้อมูลที่ยืนยันความเชื่อเดิมของตัวเราฮะ

https://thedecisionlab.com/biases/confirmation-bias

ลองคิดดูสิ ถ้าลึก ๆ แล้วเราดันเชื่อไปว่าคำทำนายของสำนักนี้แม่น เราอาจจะเผลอไปโฟกัสกับเฉพาะสิ่งที่ตรงกับชีวิตตัวเอง และมองข้ามสิ่งที่ไม่ตรงไป พูดง่าย ๆ ก็คือ เราดันเชื่อไปแล้วว่าหมอดูน่าจะทำนายถูก ก็เลยสนใจเฉพาะอันที่ถูก และไม่ได้พิจารณาให้ครบถ้วนว่าจริงแล้วหมอดูนั้นทำนายถูกหรือผิดมากน้อยแค่ไหน ซึ่งสิ่งนี้อาจทำให้การประเมินความแม่นยำของคำทำนายในอนาคตเกิดความผิดพลาดได้ การที่เรารับรู้ข้อมูลเฉพาะที่ยืนยันความคิดของเราเองนั้นอาจทำให้เรามีความเชื่อที่ไม่ถูกต้องและเสียโอกาสในการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของคำทำนายอย่างเต็มที่

ดังนั้นเพื่อลดอคติในใจตัวเองลง เราต้องออกแบบวิธีการวัดความแม่นยำให้ชัดเจนฮะ เราอาจจะเริ่มจากการทำแบบง่าย ๆ เช่นค่อย ๆ อ่านไปทีละประโยค แล้วก็ถามตัวเองว่าประโยคนี้แม่นมากหรือน้อยแค่ไหน ทำเป็นคะแนน 0 1 2 3 แบบนี้ก็ได้ฮะ 3 แปลว่าแม่นมาก 0 แปลว่าไม่แม่นเลย แล้วก็ค่อย ๆ ให้คะแนนแบบนี้ไปทีละประโยค ก่อนจะเอามาสรุปว่าหมอดูได้กี่คะแนนจากคะแนนเต็ม

การคิดคะแนนที่ได้ต่อคะแนนเต็มแบบนี้มีข้อดีอีกอย่างคือ ถ้าหมอดูที่ทำนายหว่านไปเรื่อย ๆ ประเภทที่อ่านแล้วทุกคนก็จะเจอสิ่งที่ตรงเยอะไปหมด เช่นบอกว่าจะป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจ เกี่ยวกับกล้ามเนื้อ เกี่ยวกับกระดูก เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ก็คือทายหว่านไปเรื่อย ๆ การให้คะแนนแบบนี้ก็จะทำให้เรารู้ว่าเขาทายถูกเท่าไรเทียบกับสิ่งที่ทายไปทั้งหมด

อีกสิ่งที่หมอดูบางคนมักจะทำเพื่อทำให้เรารู้สึกว่าเขาทำนายแม่นนั้นคือการพูดกลาง ๆ แบบที่ยังไงก็ถูก สิ่งนี้เรียกว่า Barnum Effect ฮะ จุดเริ่มต้นของมันเกิดจากการทดลองของคุณ Bertram Forer นักจิตวิทยาเมื่อปี 1948 โดยเขาให้นักศึกษาของเขาทำแบบทดสอบบุคลิกภาพ แล้วแจกผลการวิเคราะห์ที่บอกว่าเป็นผลของแต่ละคนโดยเฉพาะ แต่ความจริงแล้ว ผลเหล่านั้นเป็นข้อความเดียวกันหมด โดยข้อความเขียนว่า

คุณต้องการให้ผู้อื่นชื่นชอบและชื่นชมเป็นอย่างมาก คุณมีแนวโน้มที่จะคิดมากและตำหนิตนเอง คุณมีศักยภาพที่ยังไม่แสดงออกมาซุกซ่อนอยู่ และในขณะที่คุณมีข้อด้อยอยู่บ้าง คุณก็มีสิ่งที่สามารถชดเชยข้อด้อยนั้นได้ ภายนอกคุณดูเป็นคนที่มีวินัยและควบคุมตนเองได้ แต่ภายในคุณมักมีข้อกังวลและรู้สึกไม่มั่นใจ บางครั้งคุณสงสัยว่าคุณได้ตัดสินใจดีแล้วหรือไม่ หรือได้ทำสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ คุณชอบการเปลี่ยนแปลงและความหลากหลายในระดับหนึ่ง และจะไม่พอใจเมื่อถูกจำกัดให้อยู่ในข้อบังคับ คุณภูมิใจที่คุณเป็นคนมีความคิดเป็นของตนเอง และไม่ยอมรับข้อคิดเห็นจากผู้อื่นหากปราศจากหลักฐานที่น่าพอใจ บางครั้งคุณมักเก็บตัว ไม่สุงสิงกับใคร ความฝันของคุณบางประการดูเป็นไปไม่ได้จริง ความมั่นคงปลอดภัยคือหนึ่งในเป้าหมายสำคัญในชีวิตของคุณ

ใครอ่านแล้วรู้สึกว่าตรงกับตัวเองบ้างฮะ แหงละสิ ก็เขาจงใจเขียนให้มันกลาง ๆ จนใครมาอ่านก็รู้สึกว่าตรงนี่นา คุณ Forer ให้นักศึกษาให้คะแนนความแม่นยำของข้อความนี้ ว่านักศึกษารู้สึกว่าวิเคราะห์ได้แม่นแค่ไหน ปรากฎว่าได้คะแนนความแม่นยำเฉลี่ยถึง 4.26 จาก 5 ซึ่งแปลได้ว่าคนส่วนใหญ่คิดว่าผลการวิเคราะห์นี้ตรงกับตัวเขาเอามาก ๆ

https://cognitivebias.io/bias/barnum-forer-effect

ดังนั้น เพื่อความแน่ใจว่าที่เราอ่านดวงแล้วรู้สึกว่ามันแม่น ความจริงแล้วหมอดูอาจจะทำนายแบบกลาง ๆ จนใครอ่านก็รู้สึกว่าแม่นก็ได้ ดังนั้นเราจึงต้องมีคู่เทียบ หรือที่เรียกในทางสถิติว่า control group สมมติว่าดวงอันนี้เป็นดวงตามราศี เราอาจจะชวนเพื่อนที่ไม่ได้เกิดราศีเดียวกับเรามาอ่านดวงของราศีเราแล้วให้คะแนนด้วยอีกคนว่าตรงไหม ถ้าเราอ่านก็ตรง เพื่อนอ่านก็ตรง ก็แปลว่าเริ่มแหม่ง ๆ ละ

หรือเอาแบบที่ง่ายกว่านั้น ถ้าเราไม่มีเพื่อนจะมาช่วยทำการทดลอง เราอาจจะลองอ่านดวงของราศีอื่นดูแทน แล้วให้คะแนนว่าตรงหรือไม่ตรงมากแค่ไหน จากนั้นก็เอาคะแนนที่ได้มาเปรียบเทียบกันดู หากคำทำนายจากราศีตัวเองได้คะแนนสูงกว่าราศีอื่น ๆ อย่างชัดเจน ก็พอจะสรุปได้ว่าหมอดูเจ้านั้นมีความแม่นยำจริง แต่หากไม่ได้ผลตามที่คาดหวัง หรือการเปรียบเทียบแสดงให้เห็นว่าไม่มีความแตกต่างที่ชัดเจน การที่เราคิดว่าคำทำนายเป็นแม่นอาจจะเป็นแค่ Barnum Effect ก็ได้

หลังจากปี 1948 เนี่ย ไอ้เจ้า Barnum Effect ก็ถูกศึกษากันอย่างแพร่หลาย โดยหนึ่งในงานวิจัยพบว่าผู้เข้าร่วมจะให้คะแนนความถูกต้องสูงขึ้น หากผู้เข้าร่วมเชื่อว่าผลวิเคราะห์นี้มีผลเฉพาะเจาะจงกับเขาเท่านั้น เช่นเวลาเราอ่านดวงของราศีตัวเอง ก็มักจะเผลอรู้สึกไปว่ามันแม่นกว่าราศึอื่น เพราะรู้สึกว่าอันนี้ราศีเราเองไง

พูดในทางสถิติ ปรากฎการณ์นี้มีชื่อเรียกว่า Placebo Effect ซึ่งผลที่เกิดจากความคาดหวังของผู้ทดลอง อย่างเช่นในการทดลองทางการแพทย์ สมมติว่าผมแบ่งคนไข้เป็นสองกลุ่ม กลุ่มนึงกินยา กลุ่มนึงไม่กิน แล้วให้คนไข้สังเกตอาการ สิ่งที่อาจเกิดคือคนไข้กลุ่มที่กินยาจะคิดว่าตัวเองอาการดีขึ้นมาก เพราะเขารู้ตัวว่าตัวเองกินยา มันต้องดีขึ้นแน่ ๆ เลย ในขณะที่กลุ่มที่ไม่ได้กินยา ความจริงก็อาจจะหายดีเท่ากัน แต่พอตัวเองไม่ได้กินยา ก็จะคิดไปว่าตัวเองอาการไม่ดีขึ้น

นักวิจัยทางการแพทย์จึงแก้ปัญหาด้วยการให้ทั้งสองกลุ่มกินยาเหมือนกัน ครึ่งหนึ่งเป็นยาจริง ส่วนอีกครึ่งเป็นยาหลอก คือเป็นเม็ดแป้งเฉย ๆ แล้วก็ไม่ต้องบอกผู้ร่วมการทดลองว่าเขากินยาอะไร เพื่อให้การรับรู้ว่าตัวเองกินยาหรือไม่ได้กินนั้นไปส่งผลต่อการสังเกตอาการ สิ่งนี้เรียกว่าการทำ Blinding หรือการทำให้เหมือนตาบอดนั่นเองฮะ ดังนั้นในการอ่านดวงของเรา นอกจากเราจะอ่านดวงหลาย ๆ ราศีแล้ว เราไม่ควรจะรู้ด้วยว่ากำลังอ่านดวงของราศีไหนอยู่ เพื่อช่วยลด Placebo Effect ที่อาจเกิดขึ้นได้

https://www.vox.com/science-and-health/2017/7/7/15792188/placebo-effect-explained

ทั้งหมดนี้อาจจะฟังดูไม่เป็นคณิตศาสตร์ในแบบที่หลาย ๆ คนคุ้นเคยเอาเสียงเลย แต่ความจริงแล้วทั้งหมดที่ผมเล่ามานั้นเป็นหัวข้อหนึ่งที่สำคัญในวิชาสถิติที่เรียกว่า Experimental Design ซึ่งว่าด้วยการออกแบบการทดลองเพื่อสรุปผลทางสถิติ แม้ว่าสถิตินั้นดูเหมือนจะเป็นวิชาที่ว่าด้วยการวิเคราะห์ข้อมูล แต่อย่าลืมว่าเราจะไม่สามารถวิเคราะห์อะไรได้เลยจากข้อมูลที่เต็มไปด้วยอคติตั้งแต่แรก ดังนั้นการออกแบบการทดลองอย่างดีเพื่อลดอคติต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในข้อมูลนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน

Experimental Design เกิดขึ้นจากความต้องการในวงการวิทยาศาสตร์เพื่อทำให้การทดลองมีความเป็นระบบ และสามารถทดสอบสมมุติฐานได้อย่างแม่นยำมากขึ้น โดยหนึ่งในผู้บุกเบิกการออกแบบการทดลองคือคุณ Ronald A. Fisher นักสถิติชาวอังกฤษในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ใช่ฮะ เขาคือ Fisher เดียวกับที่คิดการทดสอบ ANOVA และ Maximum Likelihood Estimation ที่เราเรียนในวิชาสถิตินั่นแหละฮะ

การออกแบบการทดลองไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในวงการวิทยาศาสตร์ธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังถูกนำมาใช้ในหลายสาขา เช่น จิตวิทยา สังคมศาสตร์ หรือแม้แต่ธุรกิจ ตัวอย่างที่ชัดเจนมาก ๆ ก็เช่นการทดลอง A/B Testing ที่ใช้ในการเปรียบเทียบการตอบสนองของลูกค้าต่อโฆษณาหรือเว็บไซต์สองเวอร์ชัน และตัดสินใจว่าจะใช้เวอร์ชันไหนที่เหมาะสมที่สุด เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้มีปัจจัยอื่น ๆ ที่ไม่ต้องการเข้ามาปะปนในผลการทดลองของเรา

และเช่นเดิม ใครที่อยากสนับสนุนเพจเว็บไซต์ของเรา ให้ผลิตคอนเทนต์คณิตศาสตร์แบบนี้ต่อไป ก็สามารถสมัครเป็นสมาชิกรายเดือนได้โดยกดปุ่ม 'สมัครสมาชิก' ได้เลยนะฮะ

เอกสารอ้างอิง
http://apsychoserver.psych.arizona.edu/jjbareprints/psyc621/forer_the%20fallacy%20of%20personal%20validation_1949.pdf
https://science.howstuffworks.com/life/inside-the-mind/human-brain/forer-effect.htm
https://www.profit.co/blog/behavioral-economics/the-psychological-reasoning-behind-barnum-effect/
https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/3816016/
https://www.britannica.com/science/cognitive-bias