งานวิจัย(ปลอมๆ) ที่พยายามวิเคราะห์ อารมณ์ของแฟนด้วยเครื่องมือคณิตศาสตร์

งานวิจัย(ปลอมๆ) ที่พยายามวิเคราะห์ อารมณ์ของแฟนด้วยเครื่องมือคณิตศาสตร์
ที่มาภาพ: jabde

ผมบังเอิญไปเจอบทความวิชาการ(?)ชิ้นนึงมาฮะ ชื่อว่า A Time-Series Analysis of my Girlfriends Mood Swings หรือแปลเป็นไทยว่า การวิเคราะห์อารมณ์ของแฟนสาวของผมด้วยอนุกรมเวลา

แหม่ ชื่อหัวเรื่องปั่นซะขนาดนี้ มีหรือผมจะไม่ click เข้าไปอ่าน แล้วก็พบว่ามันมีหน้าตาเหมือนบทความวิชาการมาก ๆ ตั้งแต่วิธีการจัดหน้า วิธีการเขียน ภาษาที่ใช้ คืออะไรต่อมิอะไรมันดูวิชาการไปหมด แต่พอเริ่มตั้งใจอ่านดี ๆ จะพบว่านี่ไม่ใช่บทความวิชาการจริง ๆ แต่เป็นบทความที่เขียนขึ้นมาเพื่อล้อเลียนบทความวิชาการต่างหาก เอาง่าย ๆ แค่ตรงมุมขวาบนของหน้ากระดาษจะเห็นชื่อวารสาร Journal of Astrological Big Data Ecology ที่แปลเป็นไทยน่าจะได้ประมาณว่า วารสารนิเวศวิทยาข้อมูลขนาดใหญ่ทางโหราศาสตร์ ซึ่งฟังดูไม่น่ามีอยู่จริงสุด ๆ

Journal of Astrological Big Data Ecology เป็นวารสารที่ประกาศตัวชัดเจนว่าเป็นวารสารทางวิชาการปลอม ๆ ที่ตีพิมพ์งานวิจัยปลอม ๆ ในหัวข้อปั่น ๆ ที่เอาไปอ้างอิงอะไรทางวิชาการไม่ได้ เพราะไม่มีอะไรเป็นเรื่องจริงสักอย่าง คนเขียนก็เหมือนจะใช้ชื่อปลอม อ้างอิงงานวิจัยปลอม ๆ ใครมีเวลาว่างมาก ๆ ลองกดเข้าไปดูก็ได้ฮะ ว่าเขาตีพิมพ์บทความอะไรบ้าง

https://jabde.com/

ความจริงผมควรจะจบเรื่องทุกอย่างลงตั้งแต่ตอนที่รู้ว่ามันเป็นงานวิจัยปลอม ๆ แต่ไหน ๆ หลงเข้ามาอ่านแล้ว และเท่าที่ดูก็เหมือนคนเขียนเขาจะตั้งใจเขียนมากเสียด้วย ก็เลยขอตั้งใจอ่านจนจบ ผลคือ มันก็ไม่ได้ไร้สาระไปเสียทั้งหมดนี่นา มีอะไรที่เราพอจะเรียนรู้จากมันได้เยอะพอสมควรเลย ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ผมตั้งใจจะเล่าให้ฟัง

งานวิจัย(?)นี้ทำขึ้นโดย ดร.แชด โบรแมน อาจารย์จากภาควิชาจิตวิทยา Machine Learning ประยุกต์ มหาวิทยาลัยแครนเบอร์รี-เลมอน ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีอยู่จริงสักอย่าง

เขาเริ่มต้นจากการเล่าถึงปัญหาชีวิตคู่ของเขากับแฟนสาวที่ชื่อคุณทิฟฟานี ทุกอย่างเริ่มต้นจาก "โศกนาฏกรรม speed boat ปี 2018" ที่ตอนนั้นเขาได้ตัดสินใจซื้อ speed boat โดยไม่ได้ปรึกษาคุณทิฟฟานีก่อน ผลคือเธอโกรธมาก เหตุการณ์ครั้งนั้นสร้างความตึงเครียดในความสัมพันธ์จนดร.โบรแมนตระหนักได้ว่า หากต้องการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต เขาต้องหาวิธีการทำความเข้าใจอารมณ์ของทิฟฟานีอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกม Final Fantasy 7 Remake กำลังจะวางขายในอีกหนึ่งเดือน และเขาต้องการซื้อมันในวันที่เหมาะสมที่สุด

ดร.แชดเล่าว่า ทิฟฟานีเป็นคนที่อารมณ์ขึ้นลงตามปัจจัยต่าง ๆ ในชีวิต ตั้งแต่ความเครียดในที่ทำงาน การเลื่อนดูโซเชียลมีเดีย ไปจนถึงการเจอกับข่าวที่น่าหงุดหงิดในแต่ละวัน ด้วยเหตุนี้ ดร.โบรแมนจึงเริ่มเก็บข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมและอารมณ์ของเธออย่างละเอียด เช่น เวลาที่เธอใช้บนโซเชียล การซื้อของออนไลน์ และความเครียดในงาน

เป้าหมายของเราคือการสร้าง แบบจำลองพยากรณ์อารมณ์ทิฟฟานี (Tiffany Mood Forecast Model, TMFM) เพื่อทำนายอารมณ์ในอนาคตของทิฟฟานีด้วยข้อมูลอารมณ์ของเธอในอดีต รวมไปถึงข้อมูลจากปัจจัยแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นเทศกาล โอกาสพิเศษ ความเครียดจากการทำงานของเธอ หรือข่าวสารที่เธออาจเห็นระหว่างเล่นโซเชียล ข้อมูลพวกนี้ถูกเตรียมและทำความสะอาดอย่างดีเพื่อที่จะนำไปวิเคราะห์ต่อไป

ที่มาภาพ: jabde

เพื่อสร้างแบบจำลองพยากรณ์อารมณ์ทิฟฟานี ดร.แชดใช้เครื่องมือทางด้าน Time Series Analysis ทั้งหมด 4 อย่าง ประกอบด้วย การคำนวณ Simple Moving Average การทำ Sextuple Exponential Smoothing ซึ่งเป็นขั้นกว่าของ Exponential Smoothing ทั่วไป การใช้โมเดล ARMA และสุดท้ายคือ LSTM ซึ่งเป็น Machine Learning ที่ใช้เพื่อวิเคราะห์ข้อมูล time series

ที่มาภาพ: jabde

แน่นอนว่างานวิจัยนี้ไม่ได้ถูกทำขึ้นมาจริง ๆ ดังนั้นจึงไม่ได้ผลการวิเคราะห์จริง ๆ ให้ได้มาดูและพูดคุยกัน ตอนจบของบทความดร.แชดจึงทำได้เขียนสรุปอะไรกว้าง ๆ ทำนองว่า การใช้ข้อมูลและเครื่องมือวิเคราะห์ช่วยลดความตึงเครียดในความสัมพันธ์ได้จริง เขาสามารถวางแผนเวลาที่เหมาะสมสำหรับกิจกรรมของตัวเองและคู่รักได้ดียิ่งขึ้น แม้ว่าความรักอาจไม่ใช่คณิตศาสตร์ล้วน ๆ แต่การมีข้อมูลช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าใจซึ่งกันและกัน เพราะความรักรักก็เหมือนกับเกมชีวิตที่การวางแผนและความเข้าใจคือกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้เราชนะในระยะยาวบลา ๆๆๆ

ซึ่งสำหรับผมน่าเสียดายนิดหน่อย เพราะถ้าเขาลงทุนเก็บข้อมูลจากแฟนเขาแล้วเอามาวิเคราะห์จริง ๆ น่าจะทำให้บทความนี้ตลกกว่านี้ การไม่มีผลลัพท์ให้เอามาวิเคราะห์จริง ๆ จึงทำให้การล้อเลียนงานวิจัยชิ้นนี้เหมือนมุกตลกที่ปูมาอย่างยิ่งใหญ่ จบลงอย่างจืดชืดไปนิด เพราะถ้าตัดการไม่มีบทสรุปเพราะไม่มีข้อมูลจริงให้วิเคราะห์ออกไป ความจริงแล้วบทความนี้เป็นตัวอย่างที่ดีมากเพื่ออธิบายศาสตร์ที่เรียกว่า Time Series Analysis

Time Series Analysis เป็นแขนงหนึ่งของสถิติที่ศึกษาการวิเคราะห์และคาดการณ์ข้อมูลที่มีการเก็บรวบรวมมาเป็นชุดข้อมูลตามช่วงเวลา เพื่อในการหาแพทเทิร์นที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังข้อมูลที่ดูไร้รูปแบบ ที่นำไปสู่การค้นพบแนวโน้ม และทำนายอนาคตของมันได้ในที่สุด ผ่านเครื่องมือทางคณิตศาสตร์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสถิติ แบบจำลองเชิงคณิตศาสตร์ ไปจนถึงเครื่องมือใหม่ ๆ อย่าง Machine Learning

ซึ่งปกติแล้วเวลาต้องพูดถึงประโยชน์ของวิชา Time Series Analysis ผมก็มักจะยกอะไรที่จริงจังอย่าง ข้อมูลราคาหุ้น อุณหภูมิรายวัน ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในแต่ละเดือน หรือข้อมูลอื่น ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปตามเวลา ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วข้อมูล Time Series นั้นอาจจะเป็นอะไรที่ใกล้ตัวกว่านั้น อย่าง ข้อมูลการดูหนังของเราเอง จำนวนชั่วโมงที่ใช้เล่นเกม ไปจนถึงอารมณ์ของแฟนเรา

อะไรก็ได้ที่มีการเปลี่ยนแปลงตามเวลาก็ใช้วิธีการวิเคราะห์แบบเดียวกันทั้งนั้น เริ่มจากการเตรียมข้อมูล วิเคราะห์ด้วยเครื่องมือต่าง ๆ สรุปผลการวิเคราะห์ และตีความผลการวิเคราะห์ที่ได้ออกมาเป็นความเข้าใจบางอย่าง นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ผมเรียกวิชาอย่าง Time Series Analysis ว่าเป็นคณิตศาสตร์ในฐานะเครื่องมือเพื่อทำความเข้าใจโลก

พร้อมยังฮะ ผมจะขายของแล้วนะ

เรียน ‘Time Series Analysis’ กับผม พรรษ วติวุฒิพงศ์ นักคณิตศาสตร์ และเจ้าของเพจคณิตศาสตร์อย่างที่ควรจะเป็น ทำความรู้จักกับเครื่องมือทางคณิตศาสตร์ สำหรับวิเคราะห์และพยากรณ์ข้อมูล Time Series ด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ได้ที่

https://unfoldthedice.onlinecoursehost.com/courses

พิเศษ! Promotion รับปีใหม่
เพียงใส่โค้ด UFD2025 เมื่อซื้อคอร์สใดก็ได้
จะได้รับส่วนลด 25% ไปเลย
ตั้งแต่วันนี้ - 31 ธันวาคม 2567 เท่านั้น

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง inbox เพจคณิตศาสตร์อย่างที่ควรจะเป็นเลยนะฮะ

เอกสารอ้างอิง
https://jabde.com/
https://jabde.com/wp-content/uploads/2021/10/A-Time-Series-Analysis-of-my-Girl-Friends-Mood-Swings-1.pdf
https://www.analyticsvidhya.com/blog/2021/10/a-comprehensive-guide-to-time-series-analysis/