'Math Anxiety' อาการกลัวเลขที่ส่งต่อได้จากรุ่นสู่รุ่น

'Math Anxiety' อาการกลัวเลขที่ส่งต่อได้จากรุ่นสู่รุ่น
ที่มาภาพ: freepik

ไหนใครกลัวคณิตศาสตร์บ้างฮะ พูดให้สบายใจขึ้นหน่อยก็คือคุณไม่ได้เป็นอยู่คนเดียว มีคนจำนวนมากที่มีอาการที่เรียกว่า Math Anxiety ที่หมายถึงการรู้สึกอึดอัดทุกครั้งเวลาจะต้องทำคำนวณเลข ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ อย่างการคำนวณค่าอาหาร คิดรายรับรายจ่าย คำนวณโปรโมชัน ไปจนถึงเรื่องใหญ่ ๆ อย่างการวางแผนการลงทุน หรือคำนวณภาษี

ความจริงแล้ว Math Anxiety มันก็อาจจะไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่อะไรในยุคที่มีเครื่องคิดเลขหรือแอพลิเคชันช่วยคำนวณให้โหลดมาใช้ได้เยอะแยะไปหมด ยิ่งพอโตแล้ว ไม่ต้องเรียนไม่ต้องสอบคณิตศาสตร์แล้ว การกลัวคณิตศาสตร์อาจจะไม่ใช่ปัญหาอะไร จนกระทั่งคุณมีลูกเท่านั้นแหละ

งานวิจัยหลายชิ้นสรุปตรงกันว่าความกังวลที่ผู้ปกครองมีต่อวิชาคณิตศาสตร์นั้นสามารถส่งต่อไปถึงลูกได้ เช่นงานวิจัยเรื่อง Relations between Math Achievement, Math Anxiety, and the Quality of Parent–Child Interactions While Solving Math Problems ในปี 2023 พบว่าความวิตกกังวลเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ของผู้ปกครองนั้นส่งผลต่อความวิตกกังวลต่อคณิตศาสตร์ของลูกมากกว่าความสามารถของผู้ปกครองเสียอีก

งานวิจัยชิ้นนี้ได้ทดลองให้ผู้ปกครองและเด็กทำโจทย์คณิตศาสตร์ร่วมกัน และพบว่าความสามารถทางคณิตศาสตร์ของผู้ปกครองไม่ได้มีความสัมพันธ์กับความวิตกกังวลต่อคณิตศาสตร์ของลูกอย่างมีนัยยะสำคัญ ในขณะที่ความกังวลของผู้ปกครองนั้นมี สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า แม้ผู้ปกครองไม่ได้เก่งเลข ความไม่เก่งนั้นจะไม่ได้ส่งต่อไปที่ลูก แต่ถ้าผู้ปกครองแสดงออกให้ลูกเห็นว่าคณิตศาสตร์นั้นน่ากลัว เด็ก ๆ จะซึมซับความกลัวนั้นเข้าไป

ความกลัวคณิตศาสตร์ที่ส่งต่อไปในที่นี้ไม่ใช่แค่เรื่องที่ว่าคณิตศาสตร์นั้นยาก แต่รวมถึงความรู้สึกว่าคณิตศาสตร์นั้นไม่สำคัญ และนำไปสู่ผลการเรียนที่ไม่ดีในที่สุด งานวิจัยในปี 2015 เรื่อง Intergenerational effects of parents’ math anxiety on children’s math achievement and anxiety ของคุณ Erin A. Maloney ได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความกังวลของผู้ปกครองที่มีต่อวิชาคณิตศาสตร์กับผลการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ของลูก โดยทีมวิจัยให้ผู้ปกครองของเด็กทำแบบประเมินความวิตกกังวลต่อวิชาคณิตศาสตร์ของตัวเอง และเก็บข้อมูลความถี่ที่ผู้ปกครองช่วยลูกทำการบ้านคณิตศาสตร์

ที่มาภาพ: https://www.jstor.org/stable/24544088

พบว่าสำหรับผู้ปกครองที่ไม่ได้กลัวคณิตศาสตร์ ผลการเรียนคณิตศาสตร์ของลูกนั้นออกมาดี ไม่ว่าผู้ปกครองจะสอนหรือไม่สอนการบ้านก็ตาม แต่ในทางตรงกันข้าม คะแนนสอบของเด็กในกลุ่มที่ผู้ปกครองกลัวคณิตศาสตร์แล้วสอนการบ้านลูกเยอะนั้นแย่กว่ากลุ่มอื่นอย่างชัดเจน สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าความรู้สึกกังวลเรื่องคณิตศาสตร์ของผู้ปกครองนั้นอาจส่งต่อไปที่ลูกจนไปมีผลลต่อผลการเรียนในขณะที่สอนการบ้านก็เป็นได้

ถอยไปให้ไกลกว่านั้น เอาแบบยังไม่ต้องมีการบ้านให้สอนเลย งานวิจัยเรื่อง Parents’ math anxiety and mathematics performance of pre-kindergarten children ในปี 2022 พบว่าความกังวลต่อวิชาคณิตศาสตร์ของผู้ปกครองนั้นมีอิทธิพลต่อลูกตั้งแต่สมัยก่อนเข้าเรียนระดับอนุบาลเสียด้วยซ้ำ งานวิจัยนี้ให้เด็กที่ยังไม่ได้เข้าเรียนระดับอนุบาลทำประเมินความสามารถทางคณิตศาสตร์สำหรับเด็กวัยเตรียมอนุบาล เช่น การเปรียบเทียบของสองกลุ่ม การจัดเรียงตัวเลข และการรวมตัวเลขเข้าด้วยกัน โดยเด็กจะได้ทำแบบทดสอบนี้เทอมละหนึ่งรอบ และให้ผู้ปกครองตอบคำถามเพื่อประเมินความวิตกกังวลที่มีต่อวิชาคณิตศาสตร์ พบว่าความวิตกกังวลต่อคณิตศาสตร์ของผู้ปกครองส่งผลลบต่อความสามารถทางคณิตศาสตร์ของเด็กระดับเตรียมอนุบาลอย่างมีนัยสำคัญ เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าผู้ปกครองมีอิทธิพลต่อลูกตั้งแต่ลูกยังไม่เริ่มเข้าระบบการศึกษาด้วยซ้ำ

แน่นอนว่าทั้งหมดนี้ที่เล่ามาอาจจะไม่ได้ทำให้เราสามารถสรุปลงไปแบบชี้ชัดด้วย เพราะก็ต่างรู้กันดีว่างานวิจัยแต่ละชิ้นก็มีเงื่อนไขข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป แต่มันก็พอจะทำให้เราเห็นภาพความอันตรายของการส่งต่อความกลัวคณิตศาสตร์ต่อไปให้กับเด็ก ๆ โดยพวกเราที่เป็นผู้ใหญ่ได้อย่างไม่รู้ตัว

ที่มาภาพ: https://www.youcubed.org/

แล้วแบบนี้ผู้ปกครองควรทำอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกของตัวเองกลัวคณิตศาสตร์ตามเราไปด้วย ศูนย์ YouCubed ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนคณิตศาสตร์ให้กับเด็กนักเรียน ด้วยการเปลี่ยนมุมมองและการใช้นวัตกรรมการสอนแบบใหม่ ได้รวบรวมคำแนะนำสำหรับผู้ปกครองในการช่วยให้ลูกเรียนคณิตศาสตร์ได้ดีขึ้นไว้ทั้งหมด 6 ข้อ ได้แก่

  1. ส่งเสริมให้ลูกเล่นเกมปริศนาหรือเกมที่เกี่ยวข้องกับคณิตศาสตร์
  2. ไม่ควรบอกว่าลูกทำโจทย์เลขผิดในทันทีแต่ให้ทำความเข้าใจวิธีคิดของลูกก่อนจากนั้นจึงอธิบายว่าวิธีคิดที่ถูกต้องคือะไร
  3. ไม่ควรทำให้คณิตศาสตร์เป็นเรื่องของความเร็ว เวลาเด็กต้องแก้โจทย์ปัญหาให้เร็วที่สุดจะทำให้เด็กมีความวิตกกังวลต่อวิชาคณิตศาสตร์เพิ่มขึ้น
  4. ไม่ควรบอกลูกว่าตัวเองก็ไม่เก่งวิชาคณิตศาสตร์หรือไม่ชอบวิชาคณิตศาสตร์
  5. ส่งเสริมให้ลูกมีเซนส์ทางด้านตัวเลขเพื่อช่วยให้ลูกมีวิธีมองโจทย์ที่หลากหลาย
  6. ส่งเสริมให้ลูกมี growth mindset และไม่ยอมแพ้เมื่อเจอโจทย์ปัญหาหรือหัวข้อทางคณิตศาสตร์ที่ยาก

คนเป็นพ่อเป็นแม่ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ ทุกคนมีความถนัดเป็นของตัวเอง แต่สิ่งสำคัญคืออย่าให้ความไม่ถนัดและความกลัวของเราไปปิดโอกาสการเรียนรู้ของลูกและทำให้ลูกของเราไม่ได้ค้นพบศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ นี่น่าจะเป็นบทสรุปที่ดีที่สุดของเรื่องนี้

อีกนิดฮะ ความจริงผมเคยคิดว่าอยากจัด online workshop สำหรับผู้ปกครองและคุณครูเกี่ยวกับเรื่องการสอนและสร้างแรงบันดาลใจเรื่องคณิตศาสตร์สำหรับเด็ก เพื่อให้ผู้ปกครองสามารถส่งเสริมการเรียนรู้คณิตศาสตร์นอกห้องเรียนให้กับเด็ก ๆ แบบที่ไม่ใช่การเน้นเรียนเนื้อหาเพิ่มหรือทำโจทย์ แต่ไม่แน่ใจว่าจะมีคนสนใจมั้ย ถ้าใครสนใจลองคอมเมนต์ทิ้งไว้ในเฟสหรือ dm มาบอกหน่อยก็ได้นะฮะ

แหล่งอ้างอิง
https://www.jstor.org/stable/3174058
https://www.jstor.org/stable/24544088
https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0022096521002204
https://www.mdpi.com/2227-7102/13/3/307
https://www.youcubed.org/wp-content/uploads/2017/03/Parent-Night-Handout-vF-1-2.pdf