เมื่อเด็กเคยเรียนคณิตเก่ง ต้องมาพบว่าตัวเองเรียนคณิตผิดวิธีมาตลอด

ชื่อหนังสือ: เล่นสนุกกับตัวเลข (Suji De Asobo)
ผู้เขียน : มูราโกะ คินุตะ (Murako KINUTA)
สำนักพิมพ์ : Siam Inter Comics
ปกติคุณเรียนคณิตศาสตร์แบบไหน จำสูตรเพื่อไปแก้โจทย์ หรือเข้าใจความหมายของสิ่งต่าง ๆ
เล่นสนุกกับตัวเลข ว่าด้วยเรื่องของ โยโคเบะ ทาเทคิ นักเรียนมัธยมปลายที่มีความจำดีเป็นเลิศ ทำให้เขาเรียนได้ท็อป และรู้สึกว่าตัวเองเก่งคณิตมาตลอด เพราะอ่านหนังสือแค่รอบเดียวก็จำไปตอบข้อสอบได้หมด ไม่ว่าเนื้อหาพวกนั้นจะซับซ้อนขนาดไหน นั่นจึงทำให้เขามีความฝันอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล เขาจึงเลือกเรียนที่คณะวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัยชื่อดัง
แต่พอเข้ามาเรียนจริง ๆ กลับไม่เป็นอย่างนั้น เพราะคณิตศาสตร์ในมหาวิทยาลัยกลับกลายเป็นหนังคนละม้วนกับสิ่งที่เขาเรียนได้ดีมาตอนมัธยมปลาย ในคาบแรกของวิชาแคลคูลัส อาจารย์เริ่มต้นด้วยการให้นิยามจำนวนจริง และเริ่มพิสูจน์สิ่งต่าง ๆ ซึ่งเขาเรียนไม่รู้เรื่องเลยสักนิด
เขาไม่เข้าใจว่าตัวเองต้องจำอะไรเพื่อไปสอบกันแน่
สำหรับทาเทคิ คณิตศาสตร์เป็นวิชาที่ว่าด้วยการจำสูตรกับทฤษฎีต่าง ๆ เพื่อไปแก้โจทย์ แต่เพื่อนร่วมชั้นของเขากลับบอกว่าไม่ใช่ เราสามารถเรียนคณิตศาสตร์ได้โดยไม่ต้องจำสูตร เราแค่ต้องสร้างมันขึ้นมาจากความเข้าใจ
ทาเทคิไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าการเข้าใจคณิตศาสตร์นั้นหมายถึงอะไรกันแน่ จนกระทั่งเพื่อนคนหนึ่งของเขาถามว่า
"สมมติว่านายเป็นเด็ก ป.5 นายได้เรียนสูตรหาความยาวเส้นรอบวงของวงกลมไปแล้ว แต่ยังไม่ได้เรียนสูตรหาพื้นที่วงกลม แต่นายดันอยากรู้พื้นที่วงกลมจนใจจะขาด ในเวลาแบบนั้นนายจะทำยังไง"
ทาเทคิตอบว่า แบบนั้นก็ไม่มีทางคำนวณหาพื้นที่ได้ เพราะเราไม่รู้สูตรนี่นา
เพื่อนของเขาส่ายหัว หยิบม้วนกระดาษทิชชู่ขึ้นมา หั่นมัน แล้วคลี่ออกมาเป็นรูปสามเหลี่ยม แล้วหาพื้นที่ของวงกลมด้วยพื้นที่สามเหลี่ยมที่เคยเรียนมาก่อนแล้ว




และตัวอย่างของเพื่อนเขาคนนี้นี่เอง ที่ทำให้ทาเทคิเข้าใจว่าตัวเองเรียนคณิตศาสตร์ผิดวิธีมาตลอด เขาเอาแต่จำสูตรทุกอย่างไปเรื่อย ๆ โดยไม่ได้เข้าใจด้วยซ้ำว่าจริง ๆ แล้วสูตรเหล่านั้นหมายถึงอะไรกันแน่
ปฏิบัติการเริ่มเรียนคณิตศาสตร์ใหม่ให้ถูกวิธีของทาเทคิจึงเริ่มต้นขึ้น และนำไปสู่เรื่องราววุ่นวายอีกมากมาย ซึ่งคุณต้องไปอ่านต่อเองในเล่มแล้วแหละ
สารภาพตรง ๆ ว่าผมอึ้งกับพล็อตนี้นิดหน่อย เพราะไม่คิดว่าจะมีคนพยายามเล่าประเด็นที่หนักและจริงจังมากขนาดนี้ออกมาเป็นมังงะ ที่พอจะเคยเห็นอาจจะเป็นแนวสอนเนื้อหาหรือทำโจทย์มากกว่า ไม่ใช่เล่ามุมมองต่อคณิตศาสตร์นี้ แถมเนื้อเรื่องยังมีการแทรกเนื้อหาคณิตศาสตร์ที่บางอันไม่ได้ง่ายเลย อย่างเรื่องการนิยามจำนวนจริงด้วยส่วนตัดเดเดคินด์ (Dedekind cut) ในบทที่สาม แต่ดีฮะ จริงจังแบบนี้นั่นแหละดี
แม้เนื้อหาบางจุดจะถูกใส่เข้ามาแบบแปลก ๆ ไปบ้าง แต่ถ้ามองในฐานะการ์ตูนอ่านเพลิน ๆ เรื่องหนึ่ง ผมคิดว่าน่าสนใจทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นคนที่ชอบคณิตศาสตร์อยู่แล้ว ยังไม่ชอบคณิตศาสตร์ หรือเข้าใจไปว่าตัวเองชอบวิชาคณิตศาสตร์แบบทาเทคิ ทั้ง ๆ ที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจริง ๆ แล้ววิชานี้มันว่าด้วยอะไร
และเช่นเดิม ใครที่อยากสนับสนุนเพจเว็บไซต์ของเรา ให้ผลิตคอนเทนต์คณิตศาสตร์แบบนี้ต่อไป ก็สามารถสมัครเป็นสมาชิกรายเดือนได้โดยกดปุ่ม 'สมัครสมาชิก' ได้เลยนะฮะ