ทำไมหนึ่งชั่วโมงถึงมี 60 นาที ทำไมไม่ใช่ 100 ทำไมต้อง 60

มีใครเคยสงสัยไหมว่าทำไมหนึ่งชั่วโมงถึงมี 60 นาที ทั้งที่พอเป็นเรื่องอื่น ๆ พวกเมตร เซนติเมตร สตางค์ การคิดเปอร์เซ็นต์ หรือแม้แต่คะแนนเต็ม ก็ใช้เลข 100 กันหมด
ก่อนจะไปถึงเลข 60 เรามาคุยเรื่องเลข 100 กันก่อน ว่าทำไม 100 มันถึงฮิตนัก เหตุผลที่เลข 100 มันฮิตนั้น เพราะมนุษย์เราคุ้นเคยกับเลขที่เต็ม 10 และมนุษย์เราไม่ค่อยชอบทศนิยม คือถ้ามันเต็ม 10 จำนวนเต็มมันก็จะมีแค่ 0 1 2 3 ไล่ไปถึง 10 แต่พออยากหาอะไรตรงกลางระหว่างเลขพวกนั้น เช่น 4.3 หรือ 5.6 มนุษย์บางคนก็กลัวละ ก็เลยปรับเป็นเต็ม 100 ซะ จะได้กลายเป็น 43 กับ 56 แทน และสาเหตุที่มนุษย์เราคุ้นเคยกับเลขที่เต็ม 10 นั้น เพราะมนุษย์เรามีนิ้วมือ 10 นิ้ว คือเรานับสิ่งต่าง ๆ ด้วยนิ้วมือ และเรามี 10 นิ้ว ก็เลยนับไปถึง 10 แล้วก็ขึ้นหลักใหม่แล้วกัน แค่นั้นเลย
เพราะจริง ๆ แล้วในทางคณิตศาสตร์ เลข 10 ไม่ใช่เลขที่ดีนักสำหรับการเอามาใช้นับ เพราะตัวประกอบมันน้อย สำหรับใครที่คืนความรู้ครูเรื่องตัวประกอบไปหมดแล้ว ตัวประกอบคือจำนวนเต็มบวกที่หารจำนวนนั้นลงตัว อย่างตัวประกอบของ 10 ก็คือ 1 2 5 และ 10 เอง หรือเอาให้เห็นภาพกว่านั้นก็คือชนิดของเหรียญที่จำนวนเต็มที่เราสร้างได้ เรามีเหรียญ 1 บาท 2 บาท 5 บาท และ 10 บาท แค่นั้น ถ้าเราอยากใช้เงิน 1 ส่วน 4 ของ 10 บาท เราก็ต้องใช้เหรียญ 2.5 บาทซึ่งเป็นทศนิยมแล้ว
เลข 10 มีตัวประกอบแค่ 4 ตัว ซึ่งถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับเลขใกล้ ๆ กันอย่าง 12 ที่มีตัวประกอบถึง 6 ตัว ได้แก่ 1 2 3 4 6 12 ซึ่งแปลว่าเราจะมีเหรียญใช้ถึง 6 ชนิด และสามารถแบ่ง 12 ออกได้เป็นหลายแบบกว่าโดยไม่ต้องใช้ทศนิยมเลย ซึ่งทำให้การนับไปถึงเต็ม 12 นั้นดีกว่า 10 มาก ติดแค่ว่าเราไม่ได้มี 12 นิ้วเท่านั้นเอง มีหลักฐานระบุว่าชาวมายันนับถึง 20 แล้วค่อยเปลี่ยนหลัก ซึ่งมีข้อสันนิษฐานว่าชาวมายันอาจจะใช้ทั้งมือและเท้านับ
แล้ว 60 ล่ะ 60 มาจากไหน
ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ชี้ว่าเลข 60 ที่เราใช้กันในการนับเวลา รวมถึงมุมในหน่วยองศานั้น ตกทอดมาจากชาวบาบิโลนโบราณ ข้อดีของเลข 60 คือมันมีตัวประกอบเยอะมาก ๆ เพราะคุณสามารถหาร 60 ด้วย 2 3 4 5 6 10 12 15 และ 30 ได้ลงตัว ทำให้เราสามารถพูดถึงส่วนของชั่วโมงได้โดยไม่ต้องพึ่งทศนิยมมากนัก แต่คำถามคือแล้วชาวบาบิโลนนับเลขทีละ 60 ตัวได้ยังไง แน่นอนว่าพวกเขาไม่ได้มี 60 นิ้ว มีข้อสันนิษฐานว่าพวกเขาใช้ 2 มือมือละ 5 นิ้วเหมือนเรา ๆ นี่แหละมานับ

ยกสองมือของคุณขึ้นมา แล้วเริ่มนับไปพร้อมกัน เริ่มต้นจากนิ้วโป้งซ้าย นี่คือนิ้วที่คุณจะเอาไว้ใช้นับ มีข้อนิ้ว 12 ข้อในนิ้วที่เหลือทั้ง 4 บนมือซ้าย จินตนาการว่าคุณใช้นิ้วโป้งซ้ายจิ้มไปที่แต่ละข้อนิ้วที่เหลือทั้ง 4 ไล่ไป 1 2 3 บนนิ้วชี้ ต่อมา นับ 4 5 6 ก็จิ้มนิ้วโป้งไปตามข้อนิ้วแต่ละข้อของนิ้วกลาง คุณก็จะสามารถนับไล่ไปได้จนถึง 12
พอครบ 12 ปุ๊บ คุณก็กางนิ้วโป้งขวาออกมา เพื่อบอกว่าคุณนับได้ 12 ไปได้หนึ่งครั้งแล้ว จากนั้นก็เริ่มจิ้มนิ้วโป้งซ้ายที่ตำแหน่ง 1 ใหม่ พอครบอีก 12 ก็กางอีกนิ้วที่มือขวาออกมา มือขวาของคุณมี 5 นิ้ว เพราะฉะนั้นคุณก็จะสามารถนับ 12 ไปได้ 5 ครั้ง รวมแล้วก็คือ 60 นั่นเอง
ใครที่อยากช่วยสนับสนุนเพจเว็บไซต์ของเราให้ผลิตคอนเทนต์คณิตศาสตร์อย่างนี้ต่อไป สามารถสมัครเป็นสมาชิกรายเดือนได้โดยกดปุ่ม 'สมัครสมาชิก' ได้เลยนะฮะ
แหล่งอ้างอิง
https://www.scientificamerican.com/article/experts-time-division-days-hours-minutes/
https://www.amazon.com/How-Count-Infinity-Marcus-Sautoy/dp/1786484978